ภาครัฐทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่อันเกิดจากความต้องการและความคาดหวังใหม่ๆ ตลอดจนพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาก ภาครัฐในอนาคตจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องมีสามารถปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจรวมถึงการออกแบบโครงสร้างองค์กรและกระบวนการทำงานใหม่
แนวคิดองค์กรภาครัฐในอนาคตมีรูปแบบต่างๆ ที่มีการนำเสนอออกมา ตัวอย่างเช่นโมเดล FAST Government โดย WEF โมเดล FAST ได้แก่ Flatter หน่วยงานมีลำดับชั้นการบังคับบัญชาหรือตัดสินใจลดน้อยลง Agile หน่วยงานมีความคล่องตัว กระฉับกระเฉง ว่องไว Streamlined มีประสิทธิภาพและทันสมัย และ Tech-enabled มีความสามารถด้านเทคโนโลยี
หน่วยงานมีลำดับชั้นการตัดสินใจลดน้อยลง (Flatter)
องค์กรภาครัฐในอนาคตต้องเป็นองค์กรมีลำดับชั้นการบังคับบัญชาหรือตัดสินใจลดน้อยลง ซึ่งทำได้ 4 วิธี คือ
>> เปิดให้พลเมืองมีส่วนร่วม (citizen engagement) ลดระยะห่างระหว่างภาครัฐและประชาชนผ่านสื่อสังคม โทรศัพท์มือถือ และเครื่องมืออื่นๆ
>> ปรับระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ (administrative efficiency) ลดลำดับชั้นระหว่างการบริหารงานขั้นสูงและบุคลากรฝ่ายปฏิบัติการ
>> ปรับกระบวนการตัดสินใจ (decision-making process) ให้กระบวนการตัดสินใจตั้งอยู่บนฐานของข้อมูล ปรับลดขั้นตอนการตัดสินใจที่ลดลง
>> ทำงานร่วมกันทั้งภายในรัฐบาลและระหว่างรัฐ เอกชนและประชาชน การสร้างเครือข่ายร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
มีความคล่องตัว กระฉับกระเฉง ว่องไว (Agile)
องค์กรภาครัฐในอนาคตจะต้องมีความคล่องตัว มีความยืดหยุ่น และมีความสามารถในการปรับตัวสูง องค์กรที่ประสบความสำเร็จต้องสามารถจัดโครงสร้างองค์กรให้สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างรวดเร็ว สามารถจัดรูปแบบและคณะทำงานขึ้นมาเพื่อตอบสนองความท้าทายได้อย่างรวดเร็ว
ความคล่องตัวขององค์กรภาครัฐในอนาคตนั้นรวมถึงความสามารถในการปรับโครงสร้างองค์กร และการปรับกระบวนการทำงานขององค์กรได้ เช่น สามารถยกเลิกหรือยุบองค์กร (de-organize) ตัวเองได้ และจัดใหม่เพื่อสนองภารกิจใหม่ หรือที่มักเรียกกันว่า องค์กรยุคใหม่ต้องตั้งง่าย ยุบง่าย
มีประสิทธิภาพและทันสมัย (Streamlined)
องค์กรภาครัฐในอนาคตต้องสามารถดำเนินการต่างๆ ได้อย่างทันสมัย ประหยัด มีประสิทธิภาพ ใช้การแบ่งปันทรัพยากร เช่น การบริหารบุคลากรร่วมกัน จัดบริการร่วมกัน และใช้เทคโนโลยีร่วมกัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานได้บรรลุตามพันธกิจอย่างมีประสิทธิผลและมีนวัตกรรม
มีความสามารถด้านเทคโนโลยี (Tech-enabled)
องค์กรภาครัฐในอนาคตต้องมีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีและขีดความสามารถของบุคลากรในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย กรอบการทำงานทั้งในด้านนโยบาย กฎระเบียบ และกระบวนการทำงานต่างๆ ต้องสามารถออกแบบปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีความสอดคล้องกับพลวัตของโลก มีความสามารถตอบสนองการทำงานแบบเครือข่าย ความร่วมมือ การใช้สารสนเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ บริษัท PricewaterhouseCoopers ได้นำเสนอแนวคิดของการปรับองค์กรภาครัฐในอนาคตที่มีโมเดลที่น่าสนใจและพบว่าองค์กรภาครัฐจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ โดยเปลี่ยนจากการเป็นองค์กรรัฐสำหรับประชาชน เป็นองค์กรภาครัฐที่ร่วมพัฒนากับประชาชน เปลี่ยนจากโครงสร้างองค์กรแบบแท่งไซโล เป็นองค์กรแบบเครือข่าย เปลี่ยนจากองค์กรภาครัฐที่ใหญ่ เป็นองค์กรที่เล็ก ยืดหยุ่น และมีการขับเคลื่อนเชิงวัตถุประสงค์ เปลี่ยนจากองค์กรภาครัฐที่เป็นผู้ให้บริการ (service provider) เป็นองค์กรภาครัฐที่เป็น ผู้อำนวยความสะดวกในการบริการ (service facilitator)
รวมถึงเปลี่ยนจากการเป็นเจ้าของปัจจัยผลิตและกระบวนการ เป็นการเป็นเจ้าของผลลัพธ์ร่วมกับประชาชน เปลี่ยนจากการวัดผลงานที่ผลผลิต (outputs) เป็นผลลัพธ์ (outcomes) และเปลี่ยนจากการบังคับใช้กฎหมาย เป็นการสร้างความร่วมมือหรือการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ด้วยความไว้วางใจ
องค์กรภาครัฐในอนาคตว่าจะต้องเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง (citizen-centricity) มีความชัดเจนในวิสัยทัศน์และพันธกิจ ประชาชนจะไม่ใช่แค่ลูกค้าผู้รับบริการจากภาครัฐ แต่เป็นหุ้นส่วน (partner) เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ (collaborator) และผู้ร่วมผลิต (co-producer) นอกจากนี้ หน่วยงานจะต้องมีความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพภายในและประสิทธิภาพการให้บริการภายนอก มีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ให้บริการได้อย่างมีประสิทธิผล มียุทธศาสตร์ใหม่สำหรับการสร้างการเติบโตและการพัฒนาไขว้กันระหว่างสาขาต่างๆ กันมากขึ้น เนื่องจากวาระการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบองค์รวม
คุณสมบัติหลักขององค์กรภาครัฐแห่งอนาคตจึงต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติสำคัญ คือ มีนวัตกรรมการทำงาน (innovative) มีความสามารถในการทำงานเชิงสร้างสรรค์ มีแนวคิดและรูปแบบการทำงานบริการ และทำให้มีผลกระทบที่ดีในวงกว้าง มีความคล่องตัว ตอบสนองการเปลี่ยนแปลง (agile) สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้ตามสถานการณ์ ทั้งในเชิงการปฏิบัติการ การตอบสนองเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์ มีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิผล สามารถทำงานร่วมกันข้ามหน่วยงาน ข้ามประเทศ (connected) สามารถทำงานแบบเครือข่ายความร่วมมือร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ได้ ทั้งระหว่างสาขา ระหว่างประเทศ ระหว่างหน่วยงาน
มีความโปร่งใส (transparent) มีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติการและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากในยุคต่อไปนี้จะเป็นยุคแห่งความไว้วางใจและความถูกต้อง การที่องค์กรภาครัฐมีความโปร่งใสจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจจากภาคส่วนต่างๆ ในการปฏิบัติการและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
องค์กรภาครัฐในอนาคตในทั่วโลกจะมีการปรับตัวสูงขึ้นเพื่อรองรับกับความท้าทายในด้านต่างๆ ที่หลากหลายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น คุณสมบัติหลักๆ ขององค์กรภาครัฐจะใกล้เคียงกับองค์กรภาคเอกชนสมัยใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะการมีความยืดหยุ่น คล่องตัว ตั้งง่าย ยุบง่าย ใช้เทคโนโลยีเก่ง ทำงานเป็นเครือข่าย มีนวัตกรรม มีความน่าเชื่อถือและโปร่งใส เพื่อสามารถตอบสนองประชาชนในฐานะหุ้นส่วนของการพัฒนาประเทศร่วมกัน
Comments