Low Carbon Society: ญี่ปุ่นกับสังคมคาร์บอนต่ำ
- Taratorn Ratananarumitsorn
- Apr 30, 2021
- 2 min read
ในแต่ละวัน เราดื่มกาแฟ ทานอาหาร ซื้อของเข้าบ้าน แล้วก็ทิ้งขยะ เพื่อให้รถขยะนำไปจัดการต่อ ทั้งของเสียทั่วไป อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสียหาย เครื่องใช้ไฟฟ้าที่พัง ยิ่งสังคมเราบริโภคมากเท่าไหร่ เราก็ได้มักจะได้ข่าวว่าปริมาณขยะเพิ่มขึ้นทุกทีๆ จนเกินปริมาณที่จัดการถูกต้อง
ความท้าทายของการบริหารจัดการทรัพยากร เป็นเรื่องที่ทุกเมือง ทุกสังคมและทุกประเทศต้องเผชิญเหมือนกัน ยิ่งประเทศพัฒนาไปมากเท่าไหร่ เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้นเท่าไหร่ ทรัพยากรที่นำมาใช้ ของเสียที่ปล่อยออกมาก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

สังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดีของญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร? ประเทศที่เป็นเกาะ ประชากรมากกว่า 100 ล้านคน และเศรษฐกิจอยู่ในระดับประเทศพัฒนาแล้ว น่าจะมีความคิดดีๆ สำหรับจัดการทรัพยากรเพื่อก้าวสู่สังคมในอนาคต
การพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กับการนำเข้าทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก ทั้งพลังงาน อาหาร และวัตถุดิบอื่นๆ ญี่ปุ่นเริ่มมองเห็นปัญหาที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณของเสีย เช่น ความเสี่ยงของมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ข้อจำกัดเรื่องระบบบำบัดขยะ และต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น การตอบสนองทางนโยบายของญี่ปุ่น คือ การพยายามมุ่งไปสู่การเป็นสังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดี (Sound Material Cycle Society)
แนวคิดจุนคังกะตะชาไค (Junkan-gata-shakai) หรือ สังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดี ได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ. 1991 โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น แนวคิดสังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดีมีรากฐานมาจากหลักการ 3R (Reduce, Reuse, Recycle) ปัจจัยสำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของขยะและปริมาณขยะที่ไม่ได้บำบัดจัดการอย่างดี ทำให้เกิดมลพิษในด้านต่างๆ ทั้งมลพิษทางอากาศ ดิน น้ำ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปริมาณของวัตถุดิบที่เสียไป เนื่องจากความไม่มีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรและการบริหารจัดการขยะที่มหาศาล
สังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดีจึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อลดขยะและลดการนำทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้ โดยการนำกลับมาใช้ซ้ำ การรีไซเคิล และกำจัดอย่างเหมาะสม ให้เกิดสมดุลขึ้น

แล้วต้องทำอย่างไร?
ขั้นตอนแรกสุดของการสร้างสังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดี คือ การต้องเข้าใจถึงการไหลของวัสดุ (flows of materials) ในภาคเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นได้สร้างบัญชีการไหลเวียนวัสดุ (Material Flow Accounts: MFA) ซึ่งบัญชีนี้กลายเป็นเครื่องมือสำหรับบูรณาการนโยบายสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น
บัญชีการไหลเวียนวัสดุ (MFA) ได้ระบุชัดถึงการไหลเวียนของวัตถุดิบในระบบเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น และบันทึกรายการภาพรวมของการไหลเวียนนั้นไว้ จึงทำให้ภาครัฐสามารถกำหนดเป้าหมายหรือตัวชี้วัดการไหลเวียนวัตถุดิบ (material flow indicators) ได้
ญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายหลักสำหรับการจัดตั้งสังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดีตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 แผนที่ 1 (1st Fundamental Plan for Establishing a Sound Material Cycle Society) ได้ผ่านรัฐสภาในปีค.ศ 2003 และมีแผนฉบับปรับปรุงในปีค.ศ. 2008 กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบูรณาการการบริหารจัดการขยะ ของเสีย และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเข้ากับกระบวนการบริหารเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีกฎหมายเฉพาะเรื่องรีไซเคิล สำหรับรายสินค้าและรายสาขา เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเพื่อก้าวสู่สังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดี ในขณะที่กฎหมายส่งเสริมการจัดซื้อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นการสนับสนุนสินค้ารีไซเคิล
กำหนดมาตรฐานอ้างอิงจากผู้ที่ทำได้ดีที่สุด (Top Runner Standard)
ประเทศญี่ปุ่นมีวิธีปฏิบัติและประสบการณ์การเข้าสู่สังคมที่มีการหมุนเวียนวัสดุที่ดีที่น่าสนใจ โดยเริ่มจากใช้วิธีการสมัครใจของอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ว่าญี่ปุ่นจะกำหนดเป้าหมายของประเทศไว้ในแผนงานพื้นฐานเพื่อเข้าสู่สังคมหมุนเวียนวัสดุที่ แต่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายผูกพัน (binding targets) สำหรับภาคอุตสาหกรรม แต่อาศัยความสมัครใจของภาคอุตสาหกรรมโดยเอกชนเอง
นอกจากนี้ ยังได้อาศัยการปฏิบัติการโดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยรัฐบาลท้องถิ่นรับผิดชอบในส่วนการบริหารขยะมูลฝอยในเมือง พยายามลดภาระสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ
และไอเดียที่น่าสนใจที่สุดคือการกำหนดมาตรฐานอ้างอิงจากผู้ที่ทำได้ดีที่สุด (Top Runner Programmed) ทั้งที่ในหลายๆ ประเทศมักใช้การสร้างประสิทธิภาพด้านพลังงาน โดยอาศัยมาตรการขั้นต่ำ (Minimum Efficiency Performance Standard) แต่ประเทศญี่ปุ่นใช้ยุทธศาสตร์ที่ต่างออกไป โดยใช้โครงการกำหนดมาตรฐานอ้างอิงจากผู้ที่ทำได้ดีที่สุดเพื่อหาแบบจำลองที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในตลาด จากนั้นจึงขยายมาตรฐานที่ดีที่สุดนี้ให้ผู้ประกอบการรายอื่นต้องทำตาม โดยกำหนดการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในอนาคตไว้ว่าจะกลายเป็นมาตรฐานที่ใช้

สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society Creation)
นอกจาก เรื่องสังคมหมุนเวียนวัสดุที่ดีแล้ว ประเทศญี่ปุ่นยังมีเป้าหมายที่จะก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ประเทศญี่ปุ่นกำหนดหลักการสำคัญคือ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกภาคส่วน โดยประเทศญี่ปุ่นจะมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนสมดุล (Carbon neutral society) ซึ่งหมายถึงสังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ธรรมชาติสามารถดูดซับได้ ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายสังคมคาร์บอนสมดุลนี้ทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึงการลดปริมาณคาร์บอนในทุกๆ กิจกรรม
เน้นการมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและตระหนักถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิต โดยภายใต้สังคมคาร์บอนต่ำ ประชาชนควรพยายามละทิ้งค่านิยมที่มุ่งเน้นการบริโภค หันมามุ่งเน้นคุณค่าของสถาบันครอบครัว สายใยชุมชน และ ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยต้องมีความตระหนักและรู้สึกผิดหากใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้คุณค่า (Mottainai spirit) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่จะสะท้อนออกมาในทางเลือกของผู้บริโภคซึ่งจะนำพาให้สังคมไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ซึ่งจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ในสังคมคาร์บอนต่ำนั้น มนุษย์และสังคมถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศโลก เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงภาวะโลกร้อนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาและฟื้นฟูธรรมชาติ เพื่อการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ รวมทั้งการสนับสนุนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สังคมคาร์บอนต่ำของญี่ปุ่นจะถูกสะท้อนออกมาใน 6 มิติ
มิติที่ 1 การเดินทางเคลื่อนย้าย เน้นการใช้ระบบขนส่งมวลชน แนะนำระบบแบ่งปันรถยนต์ให้ประชาชนรู้จัก ระบบขนส่งและจัดส่งจะถูกกำกับโดยระบบสารสนเทศที่ก้าวหน้า เพื่อให้เกิดการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพและปล่อยคาร์บอนต่ำ
มิติที่ 2 สิ่งแวดล้อมการทำงานและการใช้ชีวิต ประหยัดพลังงานด้วยพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้คนสามารถทำงานจากที่บ้านหรือสถานที่อื่นได้โดยไม่ต้องเดินทางเข้าเมือง
มิติที่ 3 อุตสาหกรรม ภาวะโลกร้อนถือเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ บริษัทเอกชนต้องเปิดเผยรายละเอียดของกิจกรรมที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สาธารณชนรับทราบ การลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้รับการคำนึงถึงตลอดทั้งสายโซ่อุปทาน ด้านเทคโนโลยี เน้นนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิต เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก มีการใช้ไฮโดรเจนมาทดแทนการใช้ถ่านหิน การที่ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้เทคโนโลยีด้านการผลิตที่สะอาดเหล่านี้จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ
มิติที่ 4 ทางเลือกของผู้บริโภค ประชาชนควรไม่รับหีบห่อที่ไม่จำเป็น มีความพอใจที่จะซื้อสินค้าที่ใช้ซ้ำได้และสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความภูมิใจในสินค้าจากภายในชุมชนของตนเอง ไม่สนับสนุนสินค้าจากบริษัทที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบ Eco-point ได้คะแนนจากกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มิติที่ 5 ป่าไม้ และการเกษตรโภคภัณฑ์ สิ่งเสริมการบริหารจัดการการเกษตรและการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่อนุญาตให้ผู้บริโภคสามารถทราบถึงที่มาและวิธีการผลิตของโภคภัณฑ์ต่างๆ
มิติที่ 6 รูปแบบที่แตกต่างระหว่างเขตเมือง และเขตชนบท กำหนดให้มีการวางรูปแบบของเมืองให้เหมาะสมตามขนาดของเมือง โดยแบ่งประเภทของเมืองตามขนาดได้ 3 ระดับ 1.เมืองขนาดกลางถึงใหญ่ 2.เมืองขนาดเล็ก 3.เขตชนบท โดยได้ระบุประเภทของปัจจัย 3 อย่าง คือระบบคมนาคม อาคารบ้านเรือน พลังงานทางเลือก เพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของเมือง

กลยุทธ์เพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society Strategy)
วิธีการที่จะทำให้สังคมคาร์บอนต่ำสำเร็จประกอบด้วย ความร่วมมือจากภาคประชาชน (Desirables action for Citizens) โดยปลูกฝังให้ประชาชนมี การมีส่วนร่วม ความคิดและการแบ่งปัน (Eco-participation, eco-thinking และ eco-sharing) นอกจากนั้นคือความร่วมมือจากภาคเอกชน (Desirables action for Corporations) ให้ผลิตสินค้าที่มุ่งเน้นความเป็นคาร์บอนต่ำ สนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยี โมเดลธุรกิจคาร์บอนต่ำ ธุรกิจที่มีส่วนเสริมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางกำไร สนับสนุนสถาบันการเงินเพื่อให้เงินทุนกับธุรกิจที่ต้องการทำการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม
ส่วนรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ได้แก่ การให้แรงจูงใจแบบสนับสนุน (Incentives) โครงสร้างพื้นฐาน (Soft Infrastructure) ที่มุ่งเน้นด้านความรู้และการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานทั่วไป (Hard infrastructure) มุ่งเน้นจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และทุนธรรมชาติ มุ่งเน้นการบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม
ทิศทางการพัฒนาของญี่ปุ่นและหลายประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น ทุกประเทศล้วนต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน อย่างไรก็ตาม หลายประเทศก็ตระหนักดีถึงผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาดังกล่าวที่ส่งผลต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศและโลก เราจึงสามารถเรียนรู้จากประเทศที่ผ่านประสบการณ์มาก่อนและดึงบทเรียนที่น่าสนใจมาคิดให้ลึกซึ้งเพื่อประยุกต์ใช้กับสังคมของเราต่อไป
Comments